บอร์ด / 108 คำถามกับงาน BOI / เครื่องจักร / อื่นๆ / การนำเข้าเครื่องจักรหลังเปิดดำเนินการแล้ว
mitsuwa โพสต์เมื่อวันพุธที่ 6 เมษายน 2565, 12:48:19 (106 สัปดาห์ ก่อน)
Top

รบกวนสอบถาม กรณีบริษัทเปิดดำเนินการแล้ว ต่อมามีโครงการจะลงทุนเพิ่ม โดยการซื้อเครื่องจักรหลักเพิ่ม

แต่นำเข้ามาแบบจ่ายภาษีปกติ อยากทราบดังนี้

1. เครื่องจักรที่เสียภาษีเข้ามา สามารถใช้ผลิตงานโดยใช้วัตถุดิบ BOI ได้หรือไม่ ผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ BOI หรือไม่อย่างไร

2. การนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาใช้ในโครงการ จำนวนหลายเครื่องโดยไม่ใช้สิทธิ์ BOI สามารถทำได้หรือไม่ ขอคำแนะนำที่สามารถดำเนินการโดยไม่ผิดเงื่อนไข BOI

ขอบคุณค่ะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันพุธที่ 6 เมษายน 2565, 14:10:03 (106 สัปดาห์ ก่อน)
#1 Top

1. สามารถทำได้ ไม่ผิดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใดๆ

แต่เครื่องจักรที่ชำระภาษีเข้ามาเองนั้น ต้องเป็นเครื่องจักรใหม่ ตามเงื่อนไขที่กำหนดอยู่ในบัตรส่งเสริมด้วย

2. เงื่อนไข BOI หากแยกกว้างๆ คือ

1) เงื่อนไขตามบัตร ... เป็นเงื่อนไขในการให้การส่งเสริม ซึ่งต้องปฏิบัติตามนั้น หากไม่ปฏิบัติ อาจถูกเพิกถอนบัตร

เช่น สภาพเครื่องจักร เป็นเงื่อนไขตามบัตร จึงต้องใช้เครื่องจักรใหม่เท่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องจักรเก่า

2) เงื่อนไขในการใช้สิทธิ .. เป็นเงื่อนไขกรณีที่จะใช้สิทธิตามมาตราต่างๆที่ได้รับ

เช่น หากจะใช้สิทธิยกเว้นอากรเครื่องจักร ก็ต้องขออนุมัติบัญชี ขออนุญา่ตสั่งปล่อย ขออนุญาตส่งไปซ่อม และต้องใช้ในกิจการที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น เป็นต้น

....

ที่บริษัทสอบถาม จะซื้อเครื่องจักรใหม่โดยชำระภาษีอากรขาเข้าเอง ไม่ใช้สิทธิมาตรา 28 (ไม่ว่าสิทธิจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่ก็ตาม)

จึงไม่ขัดกับเงื่อนไขตามบัตร และไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการใช้สิทธิมาตรา 28 ครับ

Khun Ao โพสต์เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565, 15:45:08 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#2 Top

เรียน แอดมิน

รบกวนขอสอบถามค่ะ

*บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และจะครบเปิดดำเนินการ เดือนมีนาคม 2566

อยากทราบว่าข้อมูลดังนี้ค่ะ

  1. ถ้าเดือนมีนาคม 2566 บริษัทยังนำเข้าเครื่องจักรมาไม่ครบ หลังเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้วบริษัทจะสามารถนำเข้าเครื่องจักรมาเพิ่มได้หรือไม่
  2. เครื่องจักรที่นำเข้ามาจะต้องเสียภาษีหรือไม่

ขอบคุณค่ะ

thun151 โพสต์เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565, 16:42:48 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#3 Top

เรียนสอบถามเจ้าหน้าที่

         บริษัทต้องการนำเข้าเครื่องจักรหลักเครื่องใหม่เข้ามาแทนเครื่องเดิม เนื่องจากเครื่องจักรเดิมเก่า เริ่มชำรุด และทำงานได้ช้าลง จึงมีคำถามดังนี้

1.เราสามารถนำเข้าเครื่องจักรหลักมาโดยใช้สิทธิ์ BOI ได้หรือไม่

2.ถ้านำเข้าภายใต้ BOI ไม่ได้ สามารถนำเข้าโดยเสียภาษีได้ไหม ผิดเงื่อนไขไหม

3.เครื่องจักรเก่าเราต้องยื่นเรื่องอะไรก่อนนำเข้าเครื่องใหม่เข้ามาหรือไม่

4.เครื่องจักรเก่าสามารถขาย ส่งคืนต่างประเทศ บริจาค หรือสามารถเก็บไว้ใช้เป็นอะไหล่ได้ไหม

ขอบคุณค่ะ

 

แก้ไขโดย thun151 เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565, 16:43:27
ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565, 08:00:59 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#4 Top

ตอบคุณ Thun151 (คำถาม #3)

1. หากสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรสิ้นสุดแล้ว ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้ามาโดยใช้สิทธิได้

2. สามารถนำเข้าโดยชำระภาษีได้ แต่ต้องเป็นเครื่องจักรใหม่ตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม
หากบัตรส่งเสริมอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่าได้ ก็ต้องเป็นเครื่องจักรเก่าอายุไม่เกินที่กำหนด และต้องทำใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่า

2.1 หากถูกต้องตามข้อ 2 ถือว่าเป็นเครื่องจักรที่สามารถนำมาใช้ในโครงการได้ เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
แต่จะไม่นับมูลค่าเครื่องจักรเป็นขนาดการลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ หากได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว

2.2 หากไม่ถูกต้องตามข้อ 2 ไม่สามารถใช้ในโครงการได้

3. เครื่องจักรเก่าที่ไม่ต้องการใช้ในโครงการแล้ว

3.1 หากนำเข้าเกินกว่า 5 ปี สามารถยื่นขอจำหน่ายออกจากโครงการ โดยไม่มีภาระภาษี แต่จะเก็บไว้เป็นเครื่องสำรองต่อไปก็ได้

และหากเป็นเครื่องจักรหลักที่กระทบกำลังผลิตเกินกว่า 20% จะถูกปรับลดกำลังผลิตสูงสุดตามสัดส่วนนั้น เว้นแต่จะมีการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทน

3.2 หากนำเข้าไม่ถึง 5 ปี อาจยื่นขอส่งคืนเครื่องจักรไปต่างประเทศ โดยไม่มีภาระภาษี หรือยื่นขอจำหน่ายออกจากโครงการ โดยมีภาระภาษีตามสภาพ (หักลดมูลค่าเครื่องจักรตามสัดส่วนระยะเวลาที่นำเข้า)

กรณีชำระภาษี จะเก็บไว้เป็นเครื่องจักรสำรองต่อไปก็ได้

และหากเป็นเครื่องจักรหลักที่กระทบกำลังผลิตเกินกว่า 20% จะถูกปรับลดกำลังผลิตสูงสุดตามสัดส่วนนั้น เว้นแต่จะมีการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทน

4. รวมตอบอยู่ในข้อ 3 ครับ

Khun Ao โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565, 11:56:39 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#5 Top

เรียน แอดมิน

รบกวนขอสอบถามค่ะ

*บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และจะครบเปิดดำเนินการ เดือนมีนาคม 2566

อยากทราบว่าข้อมูลดังนี้ค่ะ

  1. ถ้าเดือนมีนาคม 2566 บริษัทยังนำเข้าเครื่องจักรมาไม่ครบ หลังเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้วบริษัทจะสามารถนำเข้าเครื่องจักรมาเพิ่มได้หรือไม่

      2.  เครื่องจักรที่นำเข้ามาจะต้องเสียภาษีหรือไม่

ขอบคุณค่ะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565, 12:15:01 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#6 Top

ตอบคุณ Khun Ao (คำถาม #2, #5)

1. กิจการอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดไป ตาม ประกาศ กกท ที่ 2/2557 ข้อ 10/3

โดยระบุว่า สามารถนำเข้าเครื่องจักรตลอดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริม โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิม หรือเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในโครงการเดิม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้วหรือไม่ก็ตาม

2. หากบริษัทครบกำหนดเปิดดำเนินการ แต่มีกำลังผลิตไม่ถึง 80% จะถูกปรับลดกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมเท่าที่มีกำลังผลิตจริง

3. การนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มกำลังผลิตในโครงการเดิมที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว อยู่ในข่ายที่ควรทำได้ ตามประกาศข้างต้น

4. ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปัจจุบัน BOI มีวิธีปฏิบัติในกรณีตามข้อ 3 นี้ อย่างไร เช่น

4.1 อาจไม่อนุญาตให้การเพิ่มกำลังผลิตโดยการลงทุนเพิ่มหลังได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว เนื่องจากขัดกับ ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547

แต่ในกรณีนี้ ควรต้องพิจารณาตาม ประกาศ กกท ที่ 2/2557 เนื่องจากมีศักดิ์สูงกว่าประกาศ สกท ที่ ป.3/2547

4.2 อาจกำหนดให้บริษัทยื่นคำขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังโดยการลงทุนเพิ่ม จากนั้นจึงให้แก้ไขบัญชีเครื่องจักร แล้วจึงนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติม

4.3 อาจอนุญาตให้เพิ่มกำลังผลิตหลังเปิดดำเนินการ แต่อาจไม่ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประกาศ กกท ที่ 2/2557 ไม่มีข้อความคุ้มครองสิทธิส่วนนี้ไว้ / หรืออาจให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ตามระยะเวลาและวงเงินที่เหลืออยู่ตามสิทธิเดิม โดยอาจตีความจากแนวปฏิบัติอื่น

4.4 อาจไม่อนุญาตให้นำมูลค่าการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม มาปรับเปลี่ยนวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ เนื่องจากประกาศ กกท ที่ 2/2557 ไม่ได้คุ้มครองสิทธิส่วนนี้ไว้ และ BOI ไม่มีมาตรการตรวจสอบเปิดดำเนินการรอบที่ 2 จึงไม่สามารถพิสูจน์มูลค่าเครื่องจักรที่ลงทุนเพิ่มเติมได้

5. บริษัทอาจทำหนังสือหารือเป็นทางการ เกี่ยวกับแนวทางพิจารณาตามข้อ 4 ให้ได้ความชัดเจนก่อน จึงตัดสินใจดำเนินการต่อไป

6. หากได้รับคำตอบเป็นทางการจาก BOI รบกวนช่วยแจ้งให้แอดมินทราบด้วย เพื่อจะใช้เป็นแนวทางการให้คำแนะนำแก่บริษัทอื่นๆ ต่อไป ครับ

Khun Ao โพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565, 14:38:21 (97 สัปดาห์ ก่อน)
#7 Top

เรียน แอดมิน ขอบคุณมากๆค่ะ สำหรับข้อมูลและคำแนะนำ หากบริษัทได้รับคำตอบเป็นทางการจาก BOI แล้ว จะแจ้งให้แอดมินทราบค่ะ

thun151 โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2565, 10:09:31 (96 สัปดาห์ ก่อน)
#8 Top

เรียน แอดมิน

รบกวนสอบถามเพิ่มเติมค่ะ

อ้างถึง 1. หากสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรสิ้นสุดแล้ว ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้ามาโดยใช้สิทธิได้ >> แต่หากสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ที่บริษัทได้รับตามมาตรา 28 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติตลอดระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริม หมายความว่าบริษัทสามารถนำเข้าได้อีกถึงแม้จะเป็นเครื่องจักหลักก็ตามใช่หรือไม่

- และถ้าหากสามารถนำเข้าได้ตามมาตรา 28 ที่บริษัทได้ บริษัทจะต้องเข้าไปขอเพิ่มจำนวนเครื่องจักรเพื่อรองรับการนำเขามาอีกเครื่องใช่หรือไม่

เช่น เดิมทีสิทธิ์ใน EMT เครื่องจักรได้รับสิทธิ์นำเข้า 1 เครื่อง นำเข้ามาแล้ว 1 เครื่อง = ยอดคงเหลือ 0 เครื่อง

ถ้าหากว่าต้องการนำเข้าเครื่องจักรรายการเดิม เพื่อมาทดแทนเครื่องเดิมที่เก่า เริ่มชำรุดจะต้องไปขอเพิ่มตรงนี้ก่อนหรือไม่คะ หรือบริษัทต้องทำขั้นตอนอื่นก่อนการนำเข้า ขอบคุณค่ะ

ADMIN โพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2565, 19:40:22 (96 สัปดาห์ ก่อน)
#9 Top

ตอบคำถามดังนี้

1. แม้ว่าบริษัทจะได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตามมาตรา 28 ตลอดระยะเวลาที่ได้รับส่งเสริม

แต่การจะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ต้องเป็นเครื่องจักรที่นำมาใช้ผลิตตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม

1.1 ดังนั้น หากบริษัทจะนำเข้าเครื่องจักรหลักเพิ่มเติม และทำให้กำลังผลิตเพิ่มจากที่ได้รับส่งเสริม
ควรต้องได้รับอนุญาตแก้ไขกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม ให้เพิ่มขึ้นก่อน
ซึ่งจะเป็นเคสเดียวกับคำถาม #5 ที่แอดมินไม่สามารถยืนยันคำตอบได้

1.2 แต่หากเป็นการนำเข้าเครื่องจักรหลัก เพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิม ที่ชำรุดเสียหายหรือประสิทธิภาพต่ำ ภายใต้กำลังผลิตที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิม
อยู่ในข่ายที่สามารถขอนำเข้าได้ โดยไม่ต้องแก้ไขโครงการเดิม แต่อาจต้องขอจำหน่ายเครื่องจักรเดิมออกจากโครงการก่อน

2. เรื่องที่สอบถาม น่าจะเป็นกรณี 1.2 คือนำเครื่องจักรหลัก เข้ามาทดแทนเครื่องจักรเดิม ที่ชำรุดเสียหาย

ไม่ได้เป็นการนำเข้ามาเพื่อเพิ่มกำลังผลิต

จึงสามารถยื่นขอจำหน่ายเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหายออกจากโครงการ
และยื่นขอแก้ไขบัญชีเครื่องจักร เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่องจักร และนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนเครื่องจักรเดิมที่จำหน่ายออกจากโครงการ ครับ

thun151 โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565, 08:26:34 (96 สัปดาห์ ก่อน)
#10 Top

ขอบคุณค่ะ

 

<< ก่อนหน้า       1       ถัดไป >>

ถ้าหากคุณต้องการโพสต์ในกระทู้นี้ กรุณา ลงชื่อเข้าใช้ หรือ ลงทะเบียนใช้งานเว็บบอร์ด