ความรู้เกี่ยวกับงาน BOI
   - ภาพรวมการให้การส่งเสริม
 - พรบ.ส่งเสริมการลงทุน
 - นโยบายส่งเสริมการลงทุน
 - หลักเกณฑ์การให้สิทธิและประโยชน์
 - กิจการที่ให้ส่งเสริมการลงทุน
   - ภาพรวม
 - หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ
 - การกรอกคำขอรับการส่งเสริม
 - การรวมบัตรส่งเสริม
 - การโอน / รับโอนกิจการ
 - การควบรวมกิจการ
 - การโยกย้ายสถานประกอบการ
 - การส่งเสริมกิจการที่ประกอบการอยู่เดิม
   - มาตรการ STI
 - มาตรการสนับสนุนกิจการ SMEs
   - กิจการ IPO
 - กิจการ ROH
 - กิจการ TISO
 - กิจการซอฟต์แวร์
   - ภาพรวม
 - สิทธิประโยชน์มาตรา 28 และ 29
 - ระยะเวลานำเข้าและการขยายเวลา
 - บัญชีเครื่องจักร (Master List)
 - การใช้เครื่องจักรเก่า
 - การสั่งปล่อยเครื่องจักร
 - การใช้ธนาคารค้ำประกัน
 - การส่งออกไปซ่อม หรือส่งคืน
 - การตัดบัญชีเครื่องจักร
 - การขออนุญาตอื่น ๆ
   - ภาพรวม
 - สิทธิประโยชน์มาตรา 30
 - ระยะเวลานำเข้าและการขยายเวลา
 - บัญชีวัตถุดิบและปริมาณสต๊อคสูงสุด
 - สูตรการผลิต
 - การสั่งปล่อยวัตถุดิบ
 - การใช้ธนาคารค้ำประกันภาษีอากร
 - การตัดบัญชีวัตถุดิบ
   - ภาพรวม
 - สิทธิประโยชน์มาตรา 36
 - ระยะเวลานำเข้าและการขยายเวลา
 - บัญชีวัตถุดิบและปริมาณสต๊อคสูงสุด
 - สูตรการผลิต
 - ส่วนสูญเสียและเศษซาก
 - การสั่งปล่อยวัตถุดิบ
 - การใช้ธนาคารค้ำประกันภาษีอากร
 - การตัดบัญชีวัตถุดิบ
 - การส่งคืนวัตถุดิบไปต่างประเทศ
 - การชำระภาษีอากรวัตถุดิบ
 - การนำผลิตภัณฑ์กลับเข้ามาซ่อม
 - การโอน-รับโอนวัตถุดิบ
   - ภาพรวม
 - สิทธิประโยชน์มาตรา 31, 34, 35
 - วันที่เริ่มมีรายได้ครั้งแรก
 - ระยะเวลาการยกเว้นภาษี
 - รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
 - วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้
 - การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
 - ขั้นตอนการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษี
   - ภาพรวม
 - สิทธประโยชน์มาตรา 24, 25, 26
 - ระบบ e-Expert
 - การอนุมัติตำแหน่ง
 - การบรรจุช่างฝีมือ
 - การขอใบอนุญาตทำงานและต่อวีซ่า
 - การนำช่างฝีมือมาปฏิบัติงานขั่วคราว
 - ข้อควรรู้
 - กฏหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
 - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 - อื่น ๆ
   - ภาพรวม
 - สิทธิประโยชน์ มาตรา 27
 - ขั้นตอนการใช้สิทธิ
   - ภาพรวม
 - กำหนดระยะเวลาการเปิดดำเนินการ
 - การเปิดดำเนินการ
   - ภาพรวม
 - แก้ไขชนิดผลิตภัณฑ์
 - แก้ไขกำลังผลิต
 - แก้ไขกรรมวิธีการผลิต
 - แก้ไขสภาพเครื่องจักร
 - แก้ไขที่ตั้งโรงงาน
 - แก้ไขทุนจดทะเบียน
   - ภาพรวม
 - การตอบรับมติ
 - การออกบัตรส่งเสริม
   - การยืนยันการดำเนินการตามโครงการ
 - การปฏิบัติตามเงื่อนไข ISO
 - รายงานผลการดำเนินงาน (ตส.310)
 - การหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว
 - การยกเลิกบัตรส่งเสริม

 ความรู้เกี่ยวกับงาน IC
   - การสมัครสมาชิก
 - การสมัครใช้บริการสิทธิประโยชน์
 - การฝึกอบรม
   - ภาพรวม
   - บัญชีวัตถุดิบและสต๊อคสูงสุด (MML)
 - บัญชีชื่อรอง (DESC)
 - บัญชีสูตรการผลิต (FRM)
 - การกำหนดวันนำเข้าครั้งแรก
 - การสั่งปล่อยวัตถุดิบ
 - การตัดบัญชีวัตถุดิบ
 - การปรับยอดวัตถุดิบ
   - งานเครื่องจักร
 - งานสั่งปล่อยวัตถุดิบ
 - งานตัดบัญชีวัตถุดิบ
 - งานฐานข้อมูลวัตถุดิบ
 - งานบริการฝึกอบรมและสัมมนา
 - ลงทะเบียนระบบฝึกอบรมออนไลน์
 - งานบัญชีและการเงิน

 Webboard
   - เว็บบอร์ดถามตอบคำถาม
 - เครื่องจักร
 - วัตถุดิบ
 - ช่างฝีมือ
 - ภาษีเงินได้นิติบุคคล
 - การเปิดดำเนินการ
 - ลงทะเบียนเว็บบอร์ด










 
พรบ. ส่งเสริมการลงทุน

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบ

ปรับปรุงล่าสุด : 5 มกราคม 2566

พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐
แก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
และ
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่๓) พ.ศ. ๒๕๔๔
และ
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่๔) พ.ศ. ๒๕๖๐


      มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐

      มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

      มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
      (๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ และ
      (๒) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๗ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
      บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

      มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
      "ผู้ขอรับการส่งเสริม" หมายความว่า ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้
      "ผู้ได้รับการส่งเสริม" หมายความว่า ผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้
      "เครื่องจักร" หมายความว่า เครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและเครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และโครงโรงงานสำเร็จรูปที่นำมาติดตั้งเป็นโรงงานด้วย
      "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
      "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการส่งเสริมการลงทุน และหมายความรวมถึงประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน และรองประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย
      "ที่ปรึกษา" หมายความว่า ที่ปรึกษาของคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน
      "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
      "สํานักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
      "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


หมวด ๑ คณะกรรมการ ที่ปรึกษาและพนักงานเจ้าหน้าที่

      มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคณะหนึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรองประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกไม่เกินสิบคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ กับเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
      นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคนเป็นที่ปรึกษาได้

      มาตรา ๗ กรรมการหรือที่ปรึกษาอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
      ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการหรือที่ปรึกษาในระหว่างที่กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
      เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการหรือที่ปรึกษาขึ้นใหม่ ให้กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
      กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

      มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง กรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
      (๑) ตาย
      (๒) ลาออก
      (๓) นายกรัฐมนตรีให้ออก
      (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
      (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
      (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
      เมื่อคณะกรรมการหรือที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาแทนได้

      มาตรา ๙ ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการ
      การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม
      ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจมาประชุมได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจมาประชุมได้ด้วย ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
      การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
      กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

      มาตรา ๑๐ ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการรักษาการแทน ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้เลขาธิการเป็นผู้เรียกประชุมกรรมการ เพื่อให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนประธานกรรมการ

      มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้สำนักงานกระทำการใด ๆ ตามที่มอบหมาย หรือเรียกบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็นก็ได้
      ให้นำมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
      เมื่อสำนักงานหรือคณะอนุกรรมการได้กระทำการไปแล้วตามวรรคหนึ่ง ต้องรายงานให้คณะกรรมการทราบด้วย

      มาตรา ๑๑/๑ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อให้การให้สิทธิและประโยชน์แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมเป็นไปอย่างเหมาะสม ชัดเจน และโปร่งใส ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนอย่างน้อยทุกสองปี โดยให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ แล้วให้สำนักงานรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการและเปิดเผยให้ประชาชนทราบต่อไป
      การประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศได้รับ รวมทั้งความคุ้มค่าของการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

      มาตรา ๑๒ ให้กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

      มาตรา ๑๓ สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
      ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
      สำนักงาน มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
      (๑) ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
      (๒) ดำเนินการโฆษณาเผยแพร่บรรยากาศการลงทุนและชักจูงให้มีการลงทุนในกิจการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศ
      (๓) จัดให้มีศูนย์บริการลงทุนสำ หรับผู้สนใจลงทุนและผู้ลงทุนในการจัดให้ได้มาซึ่งการอนุญาตและการให้ใช้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สนใจลงทุนในการเตรียมโครงการลงทุน การหาผู้ร่วมลงทุน และการดำเนินการตามโครงการลงทุน
      (๔) วิเคราะห์โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตรวจสอบ และควบคุม ตลอดจนประเมินผลการลงทุนตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม
      (๕) ศึกษาค้นคว้าหาลู่ทางในการลงทุน จัดทำรายงานความเหมาะสมของการลงทุน และวางแผนส่งเสริมการลงทุน
      (๖) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในราชอาณาจักร
      (๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๑๓/๑ ในกรณีที่จะต้องมีการตรวจสอบ ควบคุม และประเมินผลกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การใช้สิทธิและประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการใช้สิทธิและประโยชน์สำหรับเครื่องจักร หรือวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ สำนักงานอาจมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการและจัดทำรายงานผลการดำเนินการแทนสำนักงานก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

      มาตรา ๑๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ขอรับการส่งเสริม และผู้ได้รับการส่งเสริมในระหว่างเวลาทำการเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือเพื่อตรวจสอบเอกสาร หรือสิ่งของใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการที่ขอรับการส่งเสริม หรือกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบุคคลซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นได้ตามความจำเป็น
      ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่เป็นการเร่งด่วน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับการส่งเสริม หรือผู้ได้รับการส่งเสริมทราบล่วงหน้าตามสมควร

      มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

หมวด ๒ การขอและการให้การส่งเสริม

      มาตรา ๑๖ กิจการที่คณะกรรมการจะพึงให้การส่งเสริมการลงทุนได้ ต้องเป็นกิจการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ กิจการที่ใช้ทุน แรงงาน หรือบริการในอัตราสูง หรือกิจการที่ใช้ผลิตผลการเกษตร หรือทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า กิจการนั้นยังไม่มีในราชอาณาจักร หรือมีในราชอาณาจักรไม่เพียงพอ หรือกรรมวิธีการผลิตยังไม่ทันสมัย
      ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทและขนาดของกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุน โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการให้การส่งเสริมไว้ด้วยก็ได้ และจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวในเวลาใดก็ได้
      ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า กิจการใดที่ได้ประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนตามวรรคสองหมดความจำเป็นที่จะต้องให้การส่งเสริมการลงทุนต่อไปแล้ว คณะกรรมการจะประกาศงดให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการนั้นไว้ชั่วคราว หรือเป็นการถาวรก็ได้

      มาตรา ๑๗ ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้รับการส่งเสริม ต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่เลขาธิการกำหนด พร้อมด้วยโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริม
      ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องเป็นบริษัท มูลนิธิ หรือสหกรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
      การขอรับการส่งเสริมก่อนจัดตั้งเป็นบริษัท มูลนิธิ และสหกรณ์ตามวรรคสอง ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่เลขาธิการกำหนด

      มาตรา ๑๘ โครงการลงทุนที่คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมได้ต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งนี้ให้พิจารณาถึง
      (๑) จำนวนผู้ผลิตและกำลังผลิตในกิจการที่มีอยู่แล้วในราชอาณาจักรเปรียบเทียบกับประมาณการความต้องการและขนาดกำลังผลิตที่จะส่งเสริมให้เกิดหรือเพิ่มขึ้น
      (๒) โอกาสที่กิจการนั้นจะขยายตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผลิตหรือประกอบได้ในราชอาณาจักร และที่สนับสนุนให้มีการผลิตหรือประกอบในราชอาณาจักร
      (๓) ปริมาณและอัตราการใช้ทรัพยากร รวมทั้งทุน วัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็น และแรงงาน หรือบริการอย่างอื่นที่มีอยู่ในราชอาณาจักร
      (๔) จำนวนเงินตราต่างประเทศที่จะประหยัดหรือสงวนไว้ได้ และที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร
      (๕) ความเหมาะสมของกรรมวิธีการผลิตหรือประกอบ
      (๖) หลักเกณฑ์อื่นที่คณะกรรมการเห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม

      มาตรา ๑๙ โครงการลงทุนที่คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมได้ต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีมาตรการอันสมควรที่จะป้องกันและควบคุมมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษย์และธรรมชาติ

      มาตรา ๒๐ ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้การส่งเสริมแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมรายใดแล้ว คณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขไว้ในบัตรส่งเสริมเพื่อให้ผู้ได้รับการส่งเสริมรายนั้นต้องปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องดังต่อไปนี้ด้วยก็ได้
      (๑) จำนวนทุนและแหล่งที่มาของทุน
      (๒) สัญชาติและจำนวนผู้ถือหุ้น
      (๓) ขนาดของกิจการซึ่งรวมถึงชนิดผลิตภัณฑ์ ผลิตผลหรือการให้บริการ กรรมวิธีการผลิตหรือประกอบ และกำลังผลิตหรือประกอบ
      (๔) ปริมาณวัตถุดิบภายในประเทศที่จะต้องใช้
      (๕) สัญชาติและจำนวนคนงาน ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ
      (๖) การฝึกและใช้กำลังคนในการปฏิบัติงาน
      (๗) การป้องกันและควบคุมมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
      (๘) ระยะเวลาที่จะต้องเริ่มปฏิบัติตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม
      (๙) ระยะเวลาที่จะต้องสั่งซื้อเครื่องจักร
      (๑๐) ระยะเวลาที่จะต้องนำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร
      (๑๑) ระยะเวลาที่จะต้องส่งเครื่องจักรที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรกลับออกไปภายหลังเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว
      (๑๒) การขยายระยะเวลาตาม (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๑)
      (๑๓) วันเปิดดำเนินการ
      (๑๔) การรายงานผลการปฏิบัติงานตามโครงการและการดำเนินงาน
      (๑๕) การรายงานผลการปฏิบัติงานของช่างฝีมือและผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าวว่า ได้ฝึกอบรมให้คนไทยได้รับความรู้ความชำนาญเพียงไร
      (๑๖) การกำหนดให้ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผลิต ประกอบ หรือส่งออก เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการหรือทางราชการกำหนด
      (๑๗) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผลิตหรือประกอบ หรือการให้บริการ
      (๑๘) การส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผลิตหรือประกอบ
      (๑๙) การให้นำเงิน หนังสือสัญญาคํ้าประกันของธนาคาร หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือหลักประกันอื่นที่คณะกรรมการเห็นสมควร มอบแก่สำนักงานเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
      (๒๐) เรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ การใช้ หรือการควบคุมการใช้สิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๒๑ เมื่อคณะกรรมการมีมติให้การส่งเสริมแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมรายใดแล้ว สำนักงานต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับการส่งเสริมรายนั้นทราบมติของคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ พร้อมด้วยเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
      ถ้าผู้ขอรับการส่งเสริมยอมรับการส่งเสริมตามวรรคหนึ่ง ต้องมีหนังสือตอบให้สำนักงานทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่รับหนังสือนั้น
      ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ให้เลขาธิการมีอำนาจขยายเวลาตามวรรคสองออกไปได้ไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน

      มาตรา ๒๒ ผู้ขอรับการส่งเสริมซึ่งตอบรับการส่งเสริมตามมาตรา ๒๑ แล้ว ต้องรายงานผลการเริ่มปฏิบัติงานตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้สำนักงานทราบตามแบบและวิธีการที่เลขาธิการกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันที่ตอบรับการส่งเสริม
      ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ให้เลขาธิการมีอำนาจขยายเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปได้ไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินสี่เดือน และรายงานให้คณะกรรมการทราบทุกครั้ง
      เมื่อเลขาธิการพิจารณาเห็นว่า ผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถจะดำเนินการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ให้ออกบัตรส่งเสริมให้แก่ผู้นั้นโดยมิชักช้า

      มาตรา ๒๓ บัตรส่งเสริมให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
      ให้เลขาธิการเป็นผู้ลงลายมือในบัตรส่งเสริม
      การแก้ไขบัตรส่งเสริมให้กระทำโดยมติคณะกรรมการ และให้เลขาธิการลงลายมือชื่อในบัตรส่งเสริมที่แก้ไข มอบให้ผู้ได้รับการส่งเสริมโดยมิชักช้า

หมวด ๓ สิทธิประโยชน์

      มาตรา ๒๔ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนหรือกระทำการอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนได้ตามกำหนดระยะเวลาให้อยู่ในราชอาณาจักรเท่าที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
      การขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่คณะกรรมการกำหนดและในการอนุญาต คณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไขตามที่พิจารณาเห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้

      มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวซึ่งเป็น
      (๑) ช่างฝีมือ
      (๒) ผู้ชำนาญการ
      (๓) คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลใน (๑) และ (๒) เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาให้อยู่ในราชอาณาจักรเท่าที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินอัตราจำนวนหรือระยะเวลาให้อยู่ในราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

      มาตรา ๒๖ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวเท่าที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๔ และคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามมาตรา ๒๕ ได้รับอนุญาตทำงานเฉพาะตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบตลอดระยะเวลาเท่าที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร

      มาตรา ๒๗ ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น
      ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินเลิกกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน

      มาตรา ๒๘ ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ แต่เครื่องจักรนั้นต้องไม่เป็นเครื่องจักรที่ผลิตหรือประกอบได้ในราชอาณาจักร ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกันกับชนิดที่ผลิตในต่างประเทศ และมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้

      มาตรา ๒๙ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การให้การส่งเสริมแก่กิจการใดหรือแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมรายใดไม่สมควรให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา ๒๘ คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมแก่กิจการนั้นหรือผู้ขอรับการส่งเสริมรายนั้น และรายต่อ ๆ ไป โดยให้ได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรเพียงกึ่งหนึ่ง หรือจะไม่ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรเลยก็ได้

      มาตรา ๓๐ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจะให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละเก้าสิบของอัตราปกติ สำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม มีกำหนดเวลาคราวละไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนด แต่วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นนั้นต้องไม่เป็นสิ่งของที่ผลิตหรือมีกำเนิดในราชอาณาจักรซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกันกับชนิดทีจะนำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้
      ทั้งนี้ ตามชนิด ปริมาณ ระยะเวลา เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

      มาตรา ๓๐/๑ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

      มาตรา ๓๑ ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ซึ่งต้องมีกำหนดเวลาไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
      ในกรณีที่กิจการใดเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมในกิจการดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
      รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
      ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้
      การคำนวณเงินลงทุนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

      มาตรา ๓๑/๑ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง หรือกิจการวิจัยและพัฒนา ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบสามปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น ทั้งนี้ การยกเว้นดังกล่าวอาจกำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนด้วยก็ได้
      รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูปตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
      ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้
      การคำนวณเงินลงทุนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

      มาตรา ๓๑/๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น โดยผู้ได้รับการส่งเสริมจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบกิจการ นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

      มาตรา ๓๒ ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การให้การส่งเสริมแก่กิจการใด หรือแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมรายใด ไม่สมควรให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๑/๑ คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมแก่กิจการนั้นหรือผู้ขอรับการส่งเสริมรายนั้นและรายต่อ ๆ ไป โดยไม่ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนแทนการได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ได้ การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวให้ลดหย่อนในอัตราไม่เกินร้อยละห้าสิบของอัตราปกติมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีตามที่คณะกรรมการกำหนด

      มาตรา ๓๒/๑ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับสิทธิ และประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เป็นไปตามประมวลรัษฎากร

      มาตรา ๓๓ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นจากผู้ได้รับการส่งเสริมตามสัญญาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้มีกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

      มาตรา ๓๔ เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๑/๑ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น
      เงินปันผลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้จ่ายภายในหกเดือนนับแต่วันพ้นระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ก็ให้ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง

      มาตรา ๓๕ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในท้องที่หรือเขตพื้นที่ใด คณะกรรมการจะกำหนดท้องที่หรือเขตพื้นที่นั้นเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
      นอกจากสิทธิและประโยชน์ตามมาตราอื่น คณะกรรมการมีอำนาจให้ผู้ได้รับการส่งเสริมที่ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมในท้องที่หรือเขตพื้นที่ที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ได้รับสิทธิและประโยชน์พิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
      (๑) การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี โดยนับจากวันที่กำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี สิ้นสุดลง หรือนับจากวันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
      (๒) การอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของจำนวนเงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้เสียไปเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
      (๓) การอนุญาตให้หักเงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดจากกำไรรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินที่ลงทุนแล้วในการนั้น โดยผู้ได้รับการส่งเสริมจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีรายได้จากการลงทุน ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ

      มาตรา ๓๖ คณะกรรมการอาจให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับสิทธิและประโยชน์พิเศษด้านส่งออก อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
      (๑) การยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก
      (๒) การยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป
      (๓) การยกเว้นอากรขาออก สำหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบ
      การให้สิทธิและประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลา ที่คณะกรรมการกำหนด โดยมิให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรานี้ เว้นแต่คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ในกรณีเช่นนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง

      มาตรา ๓๗ ผู้ได้รับการส่งเสริมหรือผู้ลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักรจะได้รับอนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เมื่อเงินนั้นเป็น
      (๑) เงินทุนที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามาในราชอาณาจักรและเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นที่เกิดจากเงินทุนนั้น
      (๒) เงินกู้ต่างประเทศที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำมาลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามสัญญาที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ รวมทั้งดอกเบี้ยของเงินกู้ต่างประเทศนั้น
      (๓) เงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมมีข้อผูกพันกับต่างประเทศตามสัญญาเกี่ยวกับการใช้สิทธิและบริการต่าง ๆ ในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและสัญญานั้นได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
      ในกรณีที่ระยะเวลาใดดุลการชำระเงินต้องประสบความยุ่งยากจำเป็นต้องสงวนเงินตราต่างประเทศให้มีสำรองไว้ตามสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจำกัดการนำหรือส่งเงินนั้นออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อผลดังกล่าวนั้นก็ได้ แต่จะไม่จำกัดการส่งเงินทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตํ่ากว่าร้อยละยี่สิบต่อปี ถ้าการส่งเงินนั้นกระทำภายหลังที่นำเข้ามาแล้วเป็นเวลาสองปี และจะไม่จำกัดการส่งเงินปันผลตํ่ากว่าร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

หมวด ๔ เครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจําเป็น

      มาตรา ๓๘ บรรดาเครื่องจักร วัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นซึ่งเป็นของที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร และเป็นของที่พึงได้รับยกเว้น หรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งกรมศุลกากรส่งมอบของนั้นให้แก่ผู้ขอรับการส่งเสริมซึ่งตอบรับการส่งเสริมตามมาตรา ๒๑ แล้ว หรือผู้ได้รับการส่งเสริมแล้วแต่กรณี โดยถือเอาการคํ้าประกันของธนาคารพาณิชย์ในราชอาณาจักรแทนการวางเงินเป็นประกันการชำระอากรขาเข้าได้

      มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการนำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรตามที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม เมื่อคณะกรรมการเห็นว่ามีเหตุอันควรแก้ไขเงื่อนไขนั้น ให้คณะกรรมการมีอำนาจแก้ไขนั้นได้ และถ้าได้มีการนำเครื่องจักรนั้นเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยศุลกากรแล้ว คณะกรรมการจะกำหนดให้การแก้ไขนั้นมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันนำเข้าก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าการนำเข้านั้นเกิดขึ้นก่อนหรือในหรือหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

      มาตรา ๔๐ ภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี ห้ามมิให้ผู้ได้รับการส่งเสริม
      (๑) ใช้เครื่องจักรที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า เพื่อการอื่น นอกจากกิจการที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับการส่งเสริม หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้เครื่องจักรนั้น
      (๒) ย้ายโรงงานหรือสถานที่ประกอบกิจการไปตั้งหรือดำเนินการในท้องที่อื่น นอกจากที่กำหนดในบัตรส่งเสริม
      ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา ๔๑

      มาตรา ๔๑ คณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมจำนอง จำหน่าย โอน ให้เช่า นำไปใช้ในการอื่นหรือให้บุคคลอื่นใช้เครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรตามมาตรา ๒๘ หรือมาตรา ๒๙ หรือย้ายโรงงานหรือสถานที่ประกอบกิจการไปตั้งหรือดำเนินการในท้องที่อื่น
      การอนุญาตจะทำเป็นหนังสือหรือแก้ไขบัตรส่งเสริม โดยระบุเงื่อนไขและรายละเอียดในการอนุญาตไว้ด้วยก็ได้
      ห้ามมิให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการส่งเสริม ซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรานี้ เว้นแต่คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ในกรณีเช่นนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง

      มาตรา ๔๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจำนองเครื่องจักรที่ได้รับยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากร และผู้รับจำนองซึ่งมิได้เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมบังคับจำนองเครื่องจักรนั้นก่อนพ้นกำหนดเวลาที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๐ ให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้รับจำนอง โดยให้ถือว่าผู้รับจำนองนั้นเป็นผู้นำของเข้าซึ่งสิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรนั้นในวันรับโอน

หมวด ๕ หลักประกันและการคุ้มครอง

      มาตรา ๔๓ รัฐจะไม่โอนกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมมาเป็นของรัฐ

      มาตรา ๔๔ รัฐจะไม่ประกอบกิจการขึ้นใหม่แข่งขันกับผู้ได้รับการส่งเสริม

      มาตรา ๔๕ รัฐจะไม่ทำการผูกขาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันกับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบได้

      มาตรา ๔๖ รัฐจะไม่ควบคุมราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ แต่จะไม่กำหนดราคาจำหน่ายให้ตํ่ากว่าราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควร

      มาตรา ๔๗ ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกนอกราชอาณาจักรได้เสมอไป ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ได้จากการกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

      มาตรา ๔๘ รัฐจะไม่อนุญาตให้ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดใดที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบได้โดยมีคุณภาพใกล้เคียงกันและมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้
      ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ยุทธภัณฑ์ ตามความในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชการของกระทรวงกลาโหม

      มาตรา ๔๙ ในกรณีที่จำเป็นเพื่อให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริม คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบในอัตราที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของราคารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งนอกประเทศของผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้น
      การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่คราวละไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
      คณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ในเวลาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร
      ในกรณีที่มีปัญหาว่า ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลใดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามประกาศของคณะกรรมการหรือไม่ ให้คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจพิจารณา และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
      การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าตามมาตรานี้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าเป็นเสมือนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
      ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ และผู้ใดได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับของนั้นแล้ว ก็ให้กรมศุลกากรคืนค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่ผู้นั้น

      มาตรา ๕๐ ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษตามมาตรา ๔๙ ไม่เพียงพอสำหรับการให้ความคุ้มครองกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริม ให้กระทรวงพาณิชย์ห้ามนำผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลชนิดเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือทดแทนกันได้กับที่ผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตหรือประกอบเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง

      มาตรา ๕๑ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมประสบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและร้องเรียนให้คณะกรรมการช่วยเหลือ ให้ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้ความช่วยเหลือไปตามความเหมาะสม หรือสั่งให้ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการช่วยเหลือต่อไปโดยมิชักช้า

      มาตรา ๕๒ ในกรณีที่โครงสร้างอัตราหรือวิธีการจัดเก็บภาษีอากรค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนที่พึงให้การส่งเสริมหรือที่ให้การส่งเสริมไปแล้ว ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนขอให้คณะกรรมการช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม ให้ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป

      มาตรา ๕๓ ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจใดได้รับคำ สั่งจากประธานกรรมการตามมาตรา ๕๑ หรือมาตรา ๕๒ ต้องพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือหรือแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว ถ้าเห็นว่าไม่อาจปฏิบัติตามได้ ให้รายงานประธานกรรมการทราบพร้อมด้วยเหตุผลภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง
      ในกรณีที่ได้รับรายงานเหตุผลตามวรรคหนึ่ง ถ้าประธานกรรมการพิจารณาเห็นควรดำเนินการประการใด ให้ถือเป็นที่สุด และให้ส่วนราชการองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นโดยมิชักช้า

หมวด ๖ การเพิกถอนสิทธิและประโยชน์

      มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้ให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดหรือบางส่วนโดยจะกำหนดระยะเวลาไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้
      ถ้าคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นมิได้เป็นการกระทำโดยจงใจ จะสั่งให้สำนักงานเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับการส่งเสริมแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดก่อนก็ได้ แต่เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมยังมิได้แก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

      มาตรา ๕๕ ในกรณีที่คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าหรือส่งออกทั้งหมด ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้นและให้ผู้ได้รับการส่งเสริมเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าหรือส่งออกเป็นในการคำนวณภาษีอากร สำหรับกรณีที่ได้รับลดหย่อนภาษีอากรให้เสียภาษีอากรเพิ่มจากที่ได้เสียไว้แล้วให้ครบถ้วนตามจำนวนเงินภาษีอากรที่จะพึงต้องเสียทั้งหมดเมื่อได้คำนวณตามเกณฑ์เช่นว่านั้น
      ในกรณีที่คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร สำหรับของที่นำเข้าหรือส่งออกบางส่วน ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาตั้งแต่เพียงเท่าที่ตนยังคงได้รับสิทธิและประโยชน์อยู่ และให้เสียภาษีอากรตามส่วนที่ได้เพิกถอนจนครบถ้วน โดยถือสภาพของของราคาและอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าหรือส่งออกเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากร
      ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องแจ้งขอชำระภาษีอากร หรือภาษีอากรเพิ่มต่อกรมศุลกากร หรือด่านศุลกากรที่ได้นำของนั้นเข้ามาหรือส่งของนั้นออกไปภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร และต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ ถ้าผู้ได้รับการส่งเสริมมิได้แจ้งหรือชำระภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าภาษีอากรที่ต้องชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาแจ้งหรือชำระ แล้วแต่กรณี จนถึงวันที่นำเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มมาชำระซึ่งต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาแจ้งหรือชำระดังกล่าว ถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาหรือส่งออกไปโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรและให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับ ทั้งนี้ ในการคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าว ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
      ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของสำนักงานตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง คณะกรรมการจะให้ผู้ได้รับการส่งเสริมเสียเงินเพิ่มภาษีอากรให้แก่รัฐ โดยชำระแก่กรมศุลกากรพร้อมกับเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มที่ต้องนำไปชำระตามวรรคสามในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของเงินภาษีอากรหรือเงินภาษีอากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคสองอีกด้วยก็ได้ แต่เงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรานี้มิให้เกินจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ และเพื่อให้ได้รับชำระเงินเพิ่มนี้ ให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเสมือนเงินอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
      เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี การนับอายุความตามมาตรานี้ ให้เริ่มนับเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

      มาตรา ๕๕/๑ ในกรณีที่คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมหมดสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์นั้น และให้นำประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับ
      คณะกรรมการอาจสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงระยะเวลาบัญชีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ ในกรณีนี้ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องแจ้งขอชำระภาษีอากรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนต่อกรมสรรพากร สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรจังหวัดที่ผู้ได้รับการส่งเสริมมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่และชำระ ณ สถานที่ดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์นั้น โดยถืออัตราภาษีที่เป็นอยู่ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเป็นเกณฑ์คำนวณ ถ้าผู้ได้รับการส่งเสริมมิได้แจ้งและชำระภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาแจ้งและชำระจนถึงวันที่นำเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มมาชำระ ถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้นำประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับ
      คำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคสองมิให้มีผลกระทบต่อเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้จ่ายไปแล้วก่อนวันที่คณะกรรมการมีคำสั่งเพิกถอน

      มาตรา ๕๖ ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเลิกกิจการ รวมกิจการกับผู้อื่นหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ให้บัตรส่งเสริมนั้นใช้ได้ต่อไปอีกไม่เกินสามเดือนนับแต่วันเลิก รวม หรือโอนกิจการ
      ในกรณีที่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการที่รวมกันขึ้นใหม่หรือรับโอนกิจการประสงค์จะขอรับช่วงดำเนินการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมต่อไป ให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้การส่งเสริม ให้ออกบัตรส่งเสริมโดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้เพียงเท่าที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเดิมยังเหลืออยู่ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรให้การส่งเสริม ให้สั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมด

หมวด ๗ บทสุดท้าย

      มาตรา ๕๗ บรรดาอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๗ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๘ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๕๘ ให้ถือว่าผู้ได้รับบัตรส่งเสริมในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามประเภท ขนาด และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวงหรือประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกิจการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมและผู้ได้รับบัตรส่งเสริมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๗ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม และให้มีสิทธิที่จะขอรับสิทธิและประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

      มาตรา ๕๙ ให้ถือว่าคำขอรับการส่งเสริมที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๗ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ แล้ว เป็นคำขอรับการส่งเสริมที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา ๖๐ ให้ถือว่าคำขอรับการส่งเสริมที่ค้างพิจารณาอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นคำขอรับการส่งเสริมที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้


      ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

      นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

      นายกรัฐมนตรี

หน้าแรก | เว็บบอร์ด | อ่านกระทู้ถามตอบ


views 36,501
Total pageviews 3,999,948 since Jan 2014

FAQ 108 คำถามกับงานส่งเสริมการลงทุน
เว็บไซต์ | เฟสบุ๊ค | เว็บบอร์ด | ติดต่อเรา
Copyright © FAQ 108 COMPANY LIMITED. All rights reserved.